รู้ทันหุ้นปั่น ตอนที่ 1
“รู้ทันหุ้นปั่น”
จะมีทั้งหมด 5 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 : หุ้นปั่น...ปั่นหุ้น!?!
ตอนที่ 2 : ขั้นตอนในการปั่นหุ้น (การเลือกตัวหุ้น, การกระจายพอร์ค, การเก็บสะสมหุ้น)
ตอนที่ 3 : ขั้นตอนในการปั่นหุ้น 2 (การไล่ราคาหุ้น)
ตอนที่ 4 : ขั้นตอนในการปั่นหุ้น 3 (การปล่อยหุ้นและบทสรุป)
ตอนที่ 5 : หมายเหตุปั่นหุ้น
=======================================
รู้ทันหุ้นปั่น ตอนที่ 1
หุ้นปั่น...ปั่นหุ้น!?!
น่าจะเป็นคำที่นักลงทุนในตลาดหุ้นคุ้นหูและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่ ตลาดหุ้นกำลังคึกคักร้อนแรงและอยู่ในช่วง "ขาขึ้น" เป็นภาวะ "กระทิงคึก" สุดๆในขณะนี้
การซื้อขายที่หนาแน่น ราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง นักลงทุนในตลาดมากกว่าครึ่งนั่งลุ้นกันสุดตัว เพราะเล่นเก็งกำไรระยะสั้นกันวันต่อวัน และวนเล่นกันวันละหลายรอบ ตามข่าวลือ ข่าวปล่อย ที่มีทั้งข่าวจริง ข่าวเท็จ แพร่สะพัดไปในห้องค้าเต็มไปหมด
ขณะที่ราคาหุ้นหลายๆตัวได้ทะยานขึ้นอย่างหวือหวาโดดเด่นและร้อนแรง สร้างความอู้ฟู่ร่ำรวยให้แก่นักลงทุน โดยหุ้นบางตัวปรับขึ้นมาแล้ว 400-500% และบางตัวปรับขึ้นไปได้ถึงหลัก 1000% หลายตัวปรับชนเพดานสูงสุด (30%) ติดต่อกันหลายวัน การซื้อขายหุ้นกระจุกตัวอยู่ที่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งสูงผิดปกติ ก่อนจะวนไปกระจุกตัวในหุ้นตัวอื่นๆต่อ
เสียงที่อื้ออึงพูดกันถึง "หุ้นปั่น" และ "พฤติกรรมการปั่นหุ้น" ได้ดังหนาหูขึ้นทุกที ทั้งยังดูเหมือนกระบวนการปั่นหุ้นในยุคนี้จะซับซ้อนแยบยล และไฮเทคสุดๆ!!
ใครปั่นหุ้น...ปั่นอย่างไร...หุ้นตัวไหนเหมาะมือน่าปั่น อะไรคือลางบอกเหตุว่าหุ้นตัวนี้กำลังโดนปั่น โปรดติดตาม....!?!
ขาใหญ่ฮั้วกันปั่น
จากการสำรวจตรวจสอบขบวนการปั่นหุ้นพบว่า พฤติกรรมการไล่ซื้อเก็งกำไรผสมโรงตามของ นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปั่นหุ้นของหัวโจกหรือต้นตอที่จุดพลุ ไล่ราคาปั่นหุ้นประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์เพราะการเข้าผสมโรงไล่ซื้อตามเป็นการ "ต่อยอด" ให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง และเป็นสัญญาณให้ "ก๊วนปั่นหุ้น" ใช้เป็นจังหวะในการเทขายทำกำไรได้ในราคาสูง!!
นั่นหมายถึงรายย่อยได้ตกเข้าไปเป็นเครื่องมือ...เหยื่อ... หรือเครือข่ายหนึ่งของการปั่นหุ้น ในจุดที่เสี่ยงที่สุด!!
หากจะแยกแยะให้เห็นถึงกรรมวิธีการปั่นหุ้นและกลุ่มคนผู้ร่วมขบวนการปั่นหุ้น ที่เห็นกันดาษดื่นในยุคนี้ คือการเริ่มจุดพลุจากบรรดานักลงทุนรายใหญ่หรือ "ขาใหญ่" ที่มีเงินหนา สายป่านยาวในตลาดหุ้น ซึ่งแต่ละคนมีมูลค่าพอร์ตลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ถึง 1,000 ล้านบาท โดยก๊วนปั่นกลุ่มนี้จะมีผู้ร่วม ขบวนการเป็นบรรดาเครือข่ายขาใหญ่ด้วยกันเอง ก๊วนปั่นแต่ละรายจะมีบัญชีซื้อขายหุ้น (พอร์ต) เปิดไว้หลายโบรกเกอร์ หลายคนก็กระจายไปหลายโบรกฯ พอร์ตใครพอร์ตมัน เส้นทางเงินทองแยกเป็นอิสระต่อกัน แต่เป้าหมายและผลประโยชน์ตรงกัน
โดยอาจจะนั่งสั่งการ "ปั่น" แยกที่ใครที่มัน หรือรวมตัวกันที่ห้องปฏิบัติการส่วนตัวของขาใหญ่เอง และอาจรวมกลุ่มปั่นกันที่ห้องวีไอพีของโบรกฯใดโบรกฯ หนึ่ง!?!
ขั้นตอนการปั่นหุ้น ก่อนอื่นเลยคือ การเลือก "ตัวหุ้น" ที่จะปั่นหรือสร้างราคา โดยคุณสมบัติหรือลักษณะเด่น ของหุ้นน่าปั่น และปั่นง่ายนั้น ต้องเป็นหุ้นตัวเล็กที่ราคาไม่สูงมากนัก ประเภทหุ้นต่ำสิบหรือราคาอยู่ในช่วง 10-30 บาท และต้องเป็นหุ้นที่มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนซื้อขายในตลาดได้จริงไม่มากนัก
เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมหรือสร้างราคาให้เปลี่ยนแปลงได้ง่าย และใช้เงินจำนวนไม่มากก็สามารถ ผลักดันราคาให้ปรับขึ้นไปได้ โดยสามารถกำหนดหรือคำนวณวงเงินที่จะใช้ในการปั่นหุ้นแต่ละตัวได้ ซึ่งวงเงินที่ใช้มีตั้งแต่ 400-2,000 ล้านบาท ตามราคาและจำนวนหุ้นที่ซื้อขายได้ในตลาด ซึ่งหุ้นเหล่านี้ถือเป็นหุ้นที่อยู่ในข่าย "หุ้นเหมาะมือ" น่าปั่น
ที่สำคัญ หุ้นเหล่านี้มักจะมีข่าวหรือมีเรื่องราวหนุนหลัง ที่เป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน
ของบริษัท เช่น ผลการปรับโครงสร้างหนี้ การลดทุน-เพิ่มทุน แตกพาร์หรือแจกวอแรนต์ รวมทั้งการย้ายกลุ่มจากหมวดรีแฮปโก้กลับมาซื้อขายในหมวดธุรกิจปกติ ทั้งนี้ อาจจะเป็นทั้งข่าวจริง ข่าวลือ หรือข่าวคาดการณ์
ค่อยๆลากขึ้นไป "เชือด"
ก๊วนปั่นหุ้นนี้จะใช้กลยุทธ์ "ทยอยเก็บของก่อน แล้วค่อยปล่อยข่าว" โดยจะค่อยๆ เข้าไปซื้อหุ้นที่ราคายังนิ่งอยู่ในระดับต่ำตุนไว้ในพอร์ตจำนวนหนึ่ง จากนั้นจะนัดกันเข้าไปไล่ซื้อพร้อมๆกัน ในลักษณะไล่ราคา ที่จะทำให้ปริมาณวอลุ่มและราคาหุ้นวิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนทันที ซึ่งมีกรรมวิธีทั้งการเข้าไปตั้งราคาซื้อ (Bid) โดยทุ่มซื้อเป็นลอตใหญ่ๆจำนวนเยอะ และซื้อทุกราคาที่มีคนเสนอขาย หรือการตั้งคำสั่งซื้อโดยซอยคำสั่งเป็นย่อยๆและส่งคำสั่งถี่ๆ และซื้อทุกราคาเช่นกัน เพื่อจะทำให้นักลงทุนทั่วไป เห็นความต้องการซื้อที่หนาแน่นและการทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงของราคาหุ้น เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้รายย่อยไหลเข้าไปซื้อเก็งกำไรตาม โดยบางครั้งอาจใช้กลยุทธ์อำพราง โดยชักคำสั่งซื้อออกเมื่อถึงคิวที่จะจับคู่ซื้อได้ เพื่อหลอกล่อให้เห็นว่ามีความต้องการซื้อจำนวนมาก
ขั้นตอนต่อไปก็จะเริ่มขบวนการ "ปล่อยข่าว" เพราะพฤติกรรมของนักลงทุนจะไล่เช็กหรือ สอบถามข่าวเมื่อเห็นหุ้นตัวใดวิ่งผิดปกติ และจุดนี้นี่เองที่ข่าวต่างๆ จะถูกปล่อยออกมาตามห้องค้าในอินเตอร์เน็ต หรือข่าวออนไลน์ต่างๆ และอาศัยการแพร่ สะพัด โดยพูดกันปากต่อปาก
ก๊วนปั่นหุ้นอาจทำทีโทร.ถามมาร์เกตติ้งว่ามีข่าวลือออกมาเช่นนี้จริงหรือไม่ (ข่าวที่ว่าก็จะเป็นข่าวที่จะมีผลดีต่อราคาหุ้นตัวนั้นๆ) เมื่อนักลงทุนรายอื่นๆ โทร. มาถามต่อ มาร์เกตติ้งก็อาจกลายเป็นผู้กระจายข่าวออกไปเอง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จากนั้นนักลงทุนก็จะเอาไปพูดต่อเพื่อกระตุ้นให้ "คนรู้ทีหลัง" เข้ามาไล่ตาม "ต่อยอด" ราคาให้สูงขึ้นไปอีก
นี่ก็จะเป็นจังหวะหรือโอกาสงามๆที่ก๊วนปั่นจะได้ทยอย "ออกของ" ขายหุ้นออกมาได้ในราคาสูง ฟันกำไรตุงกระเป๋า ก่อนที่จะโยกเข้าไปปั่นหุ้นตัวอื่นต่อ และอาจจะวนกลับเข้ามา ปั่นหุ้นตัวเดิมได้อีกเป็นรอบๆ ขณะที่รายย่อยก็จะ "ติดหุ้น" ในราคาสูง เพราะเมื่อจบภารกิจการปั่นแล้ว ราคาหุ้นก็จะปรับตัวลง ซึ่งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ 2-3-5 วัน
ปฏิบัติการ "จุดพลุ" ที่เริ่มตั้งแต่เข้าไปไล่ราคา จะมีการส่งสัญญาณหรือกำหนดช่วงราคาซื้อและ ราคาเป้าหมายที่จะขายไว้เป็นขั้นๆ ซึ่งจะรู้กันเอง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณภายในกลุ่มถึงจังหวะในการขายทำกำไร แต่บางครั้งเป้าหมายของราคา อาจถูกปล่อยออกมาพร้อมกับข่าวหรือเรื่องราวที่ซัพพอร์ตตัวหุ้น และที่สำคัญ มักจะบังเอิญออกมาสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของบางโบรกเกอร์ที่ออกมาหนุน
ว่ากันว่า บทวิเคราะห์ของบางโบรกเกอร์สามารถกดปุ่ม "สั่ง" ให้ออกมาได้ ในช่วงเวลาที่พอดีกับการเข้า "ต่อยอด" ราคาของรายย่อยด้วย!!!
เพราะบรรดาขาใหญ่ ก๊วนปั่นทั้งหลาย ล้วนเป็นลูกค้าวีไอพีที่สร้างรายได้ ค่าคอมมิชชั่นให้แต่ละโบรกฯมหาศาล นอกจากนี้ หุ้นปั่นบางตัวยังพบว่ามีเครือข่ายของผู้บริหารโบรกเกอร์แฝงตัวร่วมก๊วนด้วย
ดังนั้น การดูข้อมูลบทวิเคราะห์ของหุ้นแต่ละตัว สมควรต้องดูเปรียบเทียบกันหลายๆแห่ง เพราะโบรกเกอร์ "น้ำดี" ที่เป็นที่พึ่งของนักลงทุนในตลาดยังมีอีกมาก และก็อาจออกบทวิเคราะห์หุ้นปั่นมาในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์
ผู้บริหาร "อินไซด์" ปั่นเอง
ก๊วนปั่นที่ต้องจับตา เพราะกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้ คือ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเอง ที่เป็นหัวโจกต้นตอในการปั่น โดยนอกจากจะร่วมกับเครือข่ายของตัวเองแล้ว หลายกรณียังมีการชักชวน ขาใหญ่เข้าร่วมขบวนการด้วย เพื่อเพิ่มพละกำลังและวงเงินในการปั่นให้บรรลุผล
กรณีนี้ ผู้บริหารจะใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่มีการเปิดเผยเป็นเครื่องมือในการชักจูง ให้ขาใหญ่เข้าร่วมขบวนการ ซึ่งหุ้นที่จะปั่นในกรณีนี้ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นตัวเล็กเสมอไป อาจเป็นหุ้นขนาดกลาง แต่ที่จะต้องมีคือข้อมูลภายในซึ่งเป็นข่าวจริงที่จะมีผลต่อราคาหุ้นโดยตรง
ผู้บริหารจะบอกข้อมูลให้ขาใหญ่รู้ว่า บริษัทกำลังจะมีข่าวดีอะไร และตั้งเป้าที่จะปั่นราคาให้ ปรับขึ้นไปได้ในระดับใด กรรมวิธีก็คล้ายๆ เดิมคือเริ่มเข้าทยอยตุนเก็บหุ้นในราคาต่ำ โดยผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่จะใช้บัญชีของเครือข่ายที่จะทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงมาถึงตัวได้ หลังจากนั้น จะมีการเปิดเผยข่าวดีออกมา โดยผู้บริหารให้สัมภาษณ์หรืออาจจะแจ้งตลาด หลักทรัพย์ตามข้อบังคับที่ถูกต้อง
จากนั้นก็จะส่งสัญญาณให้เครือข่ายเข้าไปไล่ดันราคาหุ้นให้พุ่งขึ้นมา เมื่อมีรายย่อยผสมโรงเข้ามาไล่ซื้อต่อยอด เมื่อได้ตามราคาเป้าหมาย ก็จะฉวยจังหวะนี้ทยอยชิงขายทำกำไรออกมา
หรือบางครั้งเพียงแค่มีข่าวดีออกมา นักลงทุนก็จะเข้าไปไล่ซื้อ ยิ่งโถมเข้ามามาก ราคาก็ทะยานขึ้น ก๊วนปั่นอาจจะเข้าผสมโรงระยะหนึ่งเพื่อให้ตายใจ แต่ในอีกทางหนึ่งก็จะทยอยขายหุ้นต้นทุนต่ำออกมา หลังจากนั้นหลายครั้งที่พบว่า รายย่อยอาจยัง "เล่นกันเอง-ปั่นกันเองต่อ" ใครเข้ามาไล่ซื้อ "รับไม้สุดท้าย" ก็เจ็บตัวขาดทุนไปตามระเบียบ ขณะที่ก๊วนปั่นออกตัวขายหุ้นฟันกำไรตุงกระเป๋าไปแล้ว
ซึ่งการใช้ข้อมูลอินไซด์ของก๊วนผู้บริหารนี้ พบว่าหลายครั้งจะมีการ "ขยักข่าว" หรือค่อยๆทยอยปล่อยข่าวดีออกมาเป็นระลอก เพื่อให้สามารถกระชากราคาหุ้น ให้ขยับปรับขึ้นได้หลายรอบ ที่ข่าวอินไซด์ถูกปล่อยออกมาพร้อมๆ กับการตั้งราคาเป้าหมาย เช่น ขยักแรกตั้งเป้า 25 บาท ขยักต่อไปเป้า 30 บาท
ปล่อยข่าวรอบแรกก็จะปั่นให้ถึง 25 บาท แล้วขายทำกำไร ปิดธุรกรรมออกมาก่อน จากนั้นทิ้งช่วงเวลาไว้ ระยะหนึ่ง เพื่อเข้าไปทยอยเก็บหุ้นที่ปรับลงมาต่ำกว่า 25 บาท และปล่อยข่าวออกมาอีกขยัก เพื่อตั้งเป้าปั่นรอบต่อไปให้ถึง 30 บาท งานนี้เรียกว่า "เล่นรอบ" วนฟันกำไรกันได้หลายรอบ
อาชีพใหม่รับจ้างปั่น
สำหรับกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามาปั่นหุ้นและทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ยึดถือเป็นอาชีพใหม่ที่น่า
ตกใจขณะนี้คือ รับจ้างปั่นหุ้น ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและ รู้พฤติกรรมนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอย่างดี คนเหล่านี้อาจมาจากที่ปรึกษาการเงิน ทั้งที่ยังทำงานประจำอยู่และที่ออกมาตั้งตัวรับจ้างปั่นโดยเฉพาะ ได้ผลตอบแทนจากส่วนแบ่งกำไรจากพอร์ตของผู้บริหาร (นอมินี) และได้กำไรตรงจากการเข้าไปลงทุนของเครือข่ายตัวเอง
วิธีการทำงานคือจะเข้าไปเสนอตัวกับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่เป็นนักเล่นหุ้นซึ่งส่วนใหญ่ มักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว และวางแผนในการสร้างเรื่องราว ที่หนุนให้การปั่นมีเหตุมีผลมีน้ำหนัก ซึ่งเรื่องราวที่ว่าจะอยู่บนหลักการที่ทำได้ ทั้งการแตกพาร์ เพิ่มทุนแจกวอแรนต์ จัดกลุ่มธุรกิจใหม่ แต่งตัวเอาบริษัทลูกเข้าตลาด หรือแม้กระทั่งเจรจาร่วมพันธมิตร ซึ่งข่าวต่างๆ นี้จะถูกวางแผนดำเนินการ อย่างมืออาชีพและค่อยๆทยอยปล่อยข่าวออกมา เพื่อให้นักลงทุนคล้อย ตามผสมโรงเข้ามาไล่ราคาตาม และเพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะในการเข้าซื้อและ ขายหุ้นของก๊วนปั่นมือปืนรับจ้าง
ว่ากันว่า ก๊วนปั่นทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นนี้ สามารถทำกำไรในแต่ละรอบไม่ต่ำกว่า 100-500 ล้านบาท ในเวลา 3-7 วัน มากกว่าบางบริษัทที่ทำธุรกิจมาทั้งปี!!!
จะเห็นว่า ทุกขั้นตอนของกระบวนการปั่นหุ้นในยุคนี้ สมัยนี้ มีหลักการ ฉับไว รวดเร็ว ไร้ร่องรอย กระทำการตอนตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นและร้อนแรง หุ้นทุกตัวที่ถูกปั่นจึงมักประสบผลสำเร็จ ราคาวิ่งเกินปัจจัยพื้นฐาน และแม้รายย่อยบางกลุ่มบางคนจะได้กำไรจากการเข้าไล่ซื้อตาม แต่สุดท้าย มักติดหุ้นในราคาต้นทุนสูงมากกว่า
มีคำถามว่า รายย่อยจะมีโอกาสเข้าไปหากำไรร่วมกับขบวนการปั่นหุ้นได้หรือไม่!??
ผู้เชี่ยวชาญในวงการตลาดหุ้นชี้แนวทางว่า ในช่วงปี 2546 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นส่วนใหญ่ ที่ปรับขึ้นได้ทุกตัวนั้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นกำไรไหลเข้ากระเป๋ารายย่อย เพราะด้วยปัจจัยพื้นฐานภาพรวมตลาดที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างชัดเจน รายย่อยที่เข้าไปผสมโรง ต่อในทอดแรกๆ ก็ยังขายทำกำไรออกมาได้ ตามที่นักกลยุทธ์แนะติดปากว่า "ตามข่าวให้ทัน เข้าให้ถูกจังหวะ" และ "เข้าเร็ว-ออกเร็ว" แต่กำไรที่จะได้ก็มีจำกัด วัดกันไม่ได้กับก๊วนปั่นที่มีต้นทุนตุนไว้ต่ำกว่าและ รู้จังหวะในการขายที่ราคาสูงกว่า
เพราะเป็นผู้ควบคุมราคาเอง!!
แต่ที่อันตรายกว่านั้น คือรายย่อยที่ได้กำไรแล้ว "ติดใจ" ขายออกไปแล้ว แต่ยังเห็นราคาวิ่งต่อได้ จึงกลับเข้าไปรับใหม่ในราคาสูงกว่าเดิม ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นช่วงไม้สุดท้าย ที่ก๊วนปั่นเริ่มทยอยออกของแล้ว
สุดท้าย ผลพวงจากการ "ติดใจ" กลายเป็น "ติดหุ้น" ทุนหายกำไรหด!!
แต่ขอเตือนว่า ตลาดหุ้นปี 2547 แม้ทุกสำนักวิเคราะห์จะฟันธงว่าดัชนีหุ้นยังไปได้ต่อว่ากันไปถึง 800-900 จุด แต่ดัชนีจะสวิงแกว่งตัวขึ้น-ลงผันผวนมาก และการลงทุนในระดับดัชนีที่สูงกว่า นอกจากจะเล่นยากแล้ว ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นไปด้วย การเล่นเก็งกำไรระยะสั้น ผสมโรงไล่ราคาตามข่าวลือ เหมือนวิ่งลงหลุมพรางที่ก๊วนปั่นขุดล่อเอาไว้ โอกาสบาดเจ็บขาดทุนจึงมีมากกว่าที่จะได้กำไรติดปลายนวม ถ้าไม่แน่จริง ไม่ทันข่าว ไม่ทันเกมส์...อย่าดีกว่า
แต่ถ้าคิดว่าเจ๋งจริง...และยอมรับความเสี่ยงที่สูงได้ ก็ลองวัดดวงดู!!
================================
รู้ทันหุ้นปั่น ตอนที่ 2
ตอนที่ 2 : ขั้นตอนในการปั่นหุ้น (การเลือกตัวหุ้น, การกระจายพอร์ค, การเก็บสะสมหุ้น)
แมลงเม่า หมายถึง ปลวกในวัยเจริญพันธุ์ มีปีก ชอบบินเข้าเล่นแสงไฟในยามค่ำคืน และมักจบชีวิตในเปลวไฟ
นักลงทุนรายย่อย หมายถึง ผู้คนซึ่งพอจะมีสตางค์ ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น
เพราะทนต่อความยั่วยวนของราคาหุ้นที่ขึ้นลงหวือหวาไม่ได้ สุดท้ายมักจะหมดตัวไปกับหุ้นปั่น
ส่วนนิยามโดยสรุปของการปั่นหุ้น คือ การล่อ และลวงนักลงทุนรายย่อยให้เข้าไปซื้อหรือขายหุ้น
ที่มีราคาสูงหรือต่ำกว่าสภาวะปกติ โดยเจตนาไม่สุจริต
การเปรียบนักลงทุนรายย่อยว่าเป็นแมลงเม่า จึงเหมาะสมด้วยประการฉะนี้
ลักษณะของหุ้นที่นิยมปั่น มีมูลค่าทางตลาด ( MARKET CAPITALISATION ) ต่ำ จะได้ไม่ต้องใช้จำนวนเงินมากในการไล่ราคา
ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ดี เพื่อที่นักลงทุนสถาบันจะไม่เข้ามาซื้อขายด้วย ซึ่งจะทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณ และราคาหุ้น
มีราคาต่อหุ้น ( MARKET PRICE ) ต่ำ ถ้าราคาต่ำกว่า 10 บาทยิ่งดี ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา เช่น
หุ้นถูกไล่ราคา จาก 3 บาท เป็น 6 บาท ถึงแม้ราคาจะปรับขึ้นมา 100% แล้ว แต่คนยังรู้สึกว่าไม่แพง
เพราะยังถูกกว่าราคาพาร์ ( PAR ) สองผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบัน มักมีต้นทุนที่ราคาพาร์ หรือสูงกว่า
แม้หุ้นจะขึ้นมามาก แต่ถ้าเขาเชื่อว่าแนวโน้มของธุรกิจดี เขามักจะไม่ขาย ( ถ้าแนวโน้มธุรกิจไม่ดี
เขาก็ขายทิ้งไปนานแล้ว ) ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่านักลงทุนสถาบันจะเข้ามาแทรกแซงในการซื้อขาย
มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนน้อย เพื่อความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมปริมาณหุ้นได้ตามที่ต้องการ
ผู้ถือหุ้นใหญ่รู้เห็นเป็นใจ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว จึงไม่สนใจเมื่อราคาหุ้นขึ้น
หรือลงหวือหวามีข่าวดีมารองรับ ระยะหลังเริ่มมีการใช้ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมาเป็นตัวล่อใจนักลงทุนรายย่อย
เพื่อให้ตายใจว่าราคาหุ้นถูกไล่ขึ้นมาสมเหตุสมผล เช่น ข่าวการปรับโครงสร้างหนี้ ,ข่าวการร่วมกิจการ ,
กำไรรายไตรมาสที่พุ่งขึ้นสูงเป็นต้น
ขั้นตอนในการปั่นหุ้น
1) การเลือกตัวหุ้น
นอกจากจะต้องเลือกตัวหุ้นที่มีลักษณะตามที่กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว
ยังต้องมีการนับหุ้นด้วยว่าหุ้นตัวนี้ตอนนี้มีใครถืออยู่ในสัดส่วนเท่าไร หากจะเข้ามาปั่นหุ้น
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ ถ้าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ให้ความร่วมมือด้วยก็จะง่ายขึ้น
2)การกระจายเปิดพอร์ตการลงทุน
จะเปิดพอร์ตกระจายไว้สัก 4 - 5 โบรกเกอร์ ในชื่อที่แตกต่างกัน มักจะใช้ชื่อคนอื่นที่ไว้ใจได้เช่น
คนขับรถ , เสมียน , คนสวน เพื่อป้องกันไม่ให้โยงใยมาถึงตนได้
3)การเก็บสะสมหุ้น
มีหลายวิธีทั้งวิธีสุจริต และผิดกฎหมายในลักษณะการลวงให้คนทั่วไปเข้าใจว่า
ราคาหุ้นตัวนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปการเก็บสะสมหุ้น มีวิธีดังต่อไปนี้
การทยอยรับหุ้น เมื่อเห็นว่าราคาหุ้นลงมามากแล้ว ก็ใช้วิธีทยอยซื้อหุ้นแบบไม่รีบร้อนวันละหมื่น วันละแสนหุ้น
ขึ้นกับว่าหุ้นตัวนั้นมีสภาพคล่องมากน้อยขนาดไหน วิธีนี้เป็นวิธีสุจริตไม่ผิดกฎหมาย จะใช้เวลาในการเก็บหุ้นตั้งแต่
2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน การกดราคาหุ้น ถ้าระหว่างที่กำลังเก็บสะสมหุ้น ยังไม่ได้ปริมาณที่ต้องการ
เกิดมีข่าวดีเข้ามาหรือตลาดหุ้นเปลี่ยนเป็นขาขึ้น เริ่มมีรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นตัวนี้
ก็จะใช้วิธีขายหุ้นล็อตใหญ่ๆ ออกมาเป็นการข่มขวัญนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นการวัดใจ นักลงทุนรายย่อยมักมีอารมณ์อ่อนไหว เห็นว่าถือหุ้นตัวนี้อยู่ 2 - 3 วันแล้วหุ้นยังไม่ไปไหน แถมยังมีการขายหุ้นล็อตใหญ่ๆ ออกมา
ก็จะขายหุ้นทิ้งแล้วเปลี่ยนไปเล่นตัวอื่นแทน สุดท้ายหุ้นก็ตกอยู่ในมือรายใหญ่หมด วิธีนี้จะใช้เวลา 5 - 10 วัน
การเก็บแล้วกด วิธีนี้มักใช้เมื่อมีข่าววงใน ( INSIDE NEWS ) ว่าหุ้นตัวนี้กำลังจะมีข่าวดีเข้ามาหนุน
ถ้าหุ้นตัวนั้นไม่มีสภาพคล่อง จะใช้วิธีโยนหุ้นไปมาระหว่างพอร์ตของตนที่เปิดทิ้งไว้
รายย่อยเมื่อเห็นว่าเริ่มมีการซื้อขายคึกคัก ก็จะเข้าผสมโรงด้วย คนที่ถือหุ้นอยู่แล้ว ก่อนนี้ไม่มีสภาพคล่อง
จะขายหุ้นก็ขายไม่ได้ไม่มีคนซื้อ พอมีปริมาณซื้อขายมากขึ้นก็รีบขายหุ้นออก บางคนถือหุ้นมาตั้งแต่บาทหุ้นตกลงมาถึง 5 บาท พอเห็นหุ้นตีกลับขึ้นไป 5.5 บาท ก็รีบขายออก คิดว่าอย่างน้อยตนก็ไม่ได้ขายที่ราคาต่ำสุด
ช่วงนี้รายใหญ่จะเก็บสะสมหุ้นให้ได้มากที่สุด โดยใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการ
ขณะเดียวกันต้องคอยดูแลไม่ให้หุ้นมีราคาขึ้นไปเกิน 10 %
เพื่อไม่ให้ต้นทุนของตนสูงเกินไปถ้าเกิดราคาสูงขึ้นมากจะใช้วิธีโยนขายหุ้นล็อตใหญ่ๆ ออกมา
โดยให้พวกเดียวกันที่ตั้งซื้อ ( BID ) อยู่แล้วเป็นคนรับเมื่อได้จำนวนหุ้นตามที่ต้องการแล้ว
สุดท้ายจะกดราคาหุ้นให้ต่ำลงมายังจุดเดิม โดยใช้วิธีโยนขายหุ้นโดยให้พวกเดียวกันตั้งซื้อเหมือนเดิม
แต่จะทำอย่างหนักหน่วง และรวดเร็วกว่า ทำให้ราคาหุ้นลดอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้จะใช้เวลา 3 - 5 วัน
รายย่อยบางคนคิดว่าหมดรอบแล้ว จะรีบขายหุ้นออกมาด้วย
รายใหญ่ก็จะมาตั้งรับที่ราคาต่ำอีกครั้ง ช่วงนี้จะตั้งรับอย่างเดียว ไม่มีการไล่ซื้อ
หรือไม่ก็หยุดการซื้อขายไปเลยให้เรื่องเงียบสัก 4 - 5 วันเป็นการสร้างภาพว่าก่อนข่าวดีจะออกมา
ไม่มีใครได้ข่าววงในมาก่อนเลย รอจนวันข่าวดีประกาศเป็นทางการ จึงค่อยเข้ามาไล่ราคาหุ้น
วิธีสังเกตว่าในขณะนั้นเริ่มมีการสะสมหุ้นแล้วคือ ปริมาณซื้อขายจะเริ่มมากขึ้นผิดปกติ จากวันละไม่กี่หมื่นหุ้น
เป็นวันละหลายแสนหุ้น ราคาเริ่มจะขยับแต่ไปไม่ไกลประมาณ 5-10% มองดูเหมือนการโยนหุ้นกันมากกว่า
กดราคาหุ้นจนกว่าจะเก็บได้มากพอ แล้วค่อยไล่ราคาหุ้น
ข้อระวังอย่างหนึ่ง คือ มีหุ้นบางตัวโดยเฉพาะหุ้นตัวเล็กๆ นักลงทุนรายใหญ่มีข่าวอินไซด์ว่า ผลประกอบการงวดใหม่ที่จะประกาศออกมาแย่มาก หากภาวะการซื้อขายหุ้นตอนนั้นซึมเซา เขาจะเข้ามาไล่ซื้อ โยนหุ้นกันระหว่าง 2-3 พอร์ตที่เขาเปิดไว้ ให้ดูเหมือนรายใหญ่เริ่มเข้ามาเก็บสะสม หุ้นรายย่อยจะแห่ตาม รุ่งขึ้นรายใหญ่จะเทขายหุ้นขนานใหญ่ รายย่อยเริ่มลังเลใจ ขอดูเหตุการณ์อีกวัน
พอผลประกอบการประกาศออกมา ราคาก็หุ้นดิ่งเหวแล้ว รายย่อยจึงถูกดึงเข้าติดหุ้นราคาสูงในที่สุด
===============================
รู้ทันหุ้นปั่น ตอนที่ 3
ตอนที่ 3 : ขั้นตอนในการปั่นหุ้น 2 (การไล่ราคาหุ้น)
4) การไล่ราคาหุ้น
เมื่อได้ปริมาณหุ้นมากพอ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการไล่ราคา
แต่การไล่ราคาต้องหาจังหวะที่เหมาะสมเหมือนกัน หากจังหวะนั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอ
รายย่อยก็จะขายหุ้นทิ้งเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปสูงพอประมาณ แต่หากหาเหตุผลมารองรับได้ รายย่อยจะยังถือหุ้นไว้อยู่ เพราะเชื่อว่าราคาหุ้น น่าจะสูงกว่านี้อีก กว่าจะรู้สึกตัว ปรากฏว่ารายใหญ่ขายหุ้นทิ้งหมดแล้ว
เหตุผลหรือจังหวะที่ใช้ในการไล่ราคา มักจะใช้ 3 เรื่องนี้
ภาวะตลาดรวมเริ่มเป็นขาขึ้น กราฟทางเทคนิคของราคาหุ้นเริ่มดูดี มีข่าวลือ ซึ่งปล่อยโดยนักปั่นหุ้นว่า หุ้นตัวนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐานไปในทางที่ดีขึ้น
การไล่ราคา คือ การทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว วิธีการคือ จะมีการเคาะซื้อครั้งละมากๆ แบบยกแถว แล้วตามด้วยการเสนอซื้อ ( BID ) ยันครั้งละหลายๆ แสนหุ้นจนถึงล้านหุ้น เพื่อข่มขวัญไม่ให้รายย่อยขายสวนลงมา
รายย่อยเห็นว่าแรงซื้อแน่น จะถือหุ้นรอขายที่ราคาสูงกว่านี้
รายใหญ่บางคนอาจจะแหย่รายย่อยด้วยการเทขายหุ้นครั้งละหลายแสนหุ้น เหมือนแลกหมัดกับหุ้นที่ตนเองตั้งซื้อไว้เอง
รายย่อยอาจเริ่มสับสนว่ามีคนเข้ามาซื้อแต่เจอรายใหญ่ขายสวน ราคาจึงไม่ไปไหน สู้ขายทิ้งไปเสียดีกว่า รายใหญ่จะโยนหุ้นแหย่รายย่อยอยู่สัก 1-2 ชั่วโมง จากนั้นจะตามมาด้วยการไล่ราคาอย่างจริงจังทีละขั้นราคา ( STEP )
ถ้าหุ้นที่ปั่นเป็นหุ้นตลาด คนชอบซื้อขายกัน การไล่ราคาจะไล่แบบช้าๆ แต่ปริมาณ ( VALUME ) จะสูง ราคาเป้าหมายมักจะสูงขึ้นประมาณ 20-25% หากภาวะตลาดกระทิง ราคาเป้าหมายอาจจะสูงถึง 50% แต่ถ้าหุ้นที่ปั่นเป็นหุ้นตัวเล็กพื้นฐานไม่ค่อยดี ปริมาณการซื้อในช่วงเวลาปกติมีไม่มาก การไล่ราคาจะทำอย่างรวดเร็ว ราคาเป้าหมายมักจะสูงถึง 40-50% ถ้าเป็นภาวะกระทิง ราคาเป้าหมายอาจขยับสูงถึง 100%
ช่วงไล่ราคานี้ อาจจะกินเวลา 3 วันถึง 1 เดือน ขึ้นกับว่าเป็นหุ้นอะไร ภาวะตลาดอย่างไร เช่น ถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไรที่ไม่มีพื้นฐานจะกินเวลาสั้น แต่ถ้าเป็นหุ้นพื้นฐานดีจะใช้เวลานานกว่า และถ้าเป็นภาวะกระทิง นักปั่นหุ้นจะยิ่งทอดเวลาออกไป เพื่อให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงที่สุดเท่าที่ตั้งเป้าเอาไว้
ในช่วงต้นของการไล่ราคา นักลงทุนรายใหญ่อาจยังคงมีการสะสมหุ้นเพิ่มอยู่บ้าง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียนในแต่ละพอร์ตที่ใช้ปั่นหุ้นอยู่ พอปลายๆ มือจะใช้วิธีไล่ราคาแบบไม่เก็บของ คือ ตั้งขายเอง เคาะซื้อเอง เมื่อซื้อได้ ก็จะนำหุ้นจำนวนนี้ย้อนไปตั้งขายอีกในราคาที่สูงขึ้น และเคาะซื้อตามอีก
ทำเช่นนี้หลายๆ รอบ สลับกันไปมาระหว่างพอร์ตต่างๆของตนเอง ค่อยๆ ดันราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หากมีหุ้นของรายย่อยถูกซื้อติดเข้ามาจนรู้สึกว่าเป็นภาระมากเกินไป ก็อาจมีการเทขายระบายของออกไปบ้าง แต่เป็นการขายไม้เล็กๆ ในลักษณะค่อยๆ รินออกไป เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายย่อยตกใจเทขายตามมากเกินไป ตัวหุ้นเองจะได้มีการปรับฐานตามหลักเทคนิค เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหม่ที่ยังไม่ได้ซื้อ จะได้กล้าเข้ามาซื้อ
================================
รู้ทันหุ้นปั่น ตอนที่ 4
ตอนที่ 4 : ขั้นตอนในการปั่นหุ้น 3 (การปล่อยหุ้นและบทสรุป)
5) การปล่อยหุ้น
เมื่อหุ้นขึ้นมาได้ 80% ของราคาเป้าหมายแล้ว ระยะทางที่เหลืออีก 20% ของราคาคือช่วงของการทยอยปล่อยหุ้น ช่วงนี้จะเป็นช่วงชี้เป็นชี้ตายการลงทุนของนักปั่นหุ้น ถ้าทำพลาด นักลงทุนรายย่อยรู้เท่าทัน หรือตลาดไม่เป็นใจ เช่น เกิดสงครามโดยไม่คาดฝัน นักปั่นหุ้นเองที่จะเป็นผู้ติดหุ้นอยู่บนยอดไม้ จะขายก็ไม่มีใครมารับซื้ออาจต้องรออีก 6 เดือนถึง1 ปีกว่าจะมีภาวะกระทิงเป็นจังหวะให้ออกของได้อีกครั้ง อีกทั้งอาจจะไม่ได้ราคาดีเท่าเดิม หรือถึงกับขาดทุนก็ได้
วิธีการปล่อยหุ้น
เริ่มจากการรอจังหวะที่ข่าวดีจะประกาศออกมาเป็นทางการ นักปั่นหุ้นซึ่งรู้มาก่อนแล้วจะเริ่มไล่ราคาอย่างรุนแรง 4-5 ช่วงราคา มีการโยนหุ้น เคาะซื้อเคาะขายกันเองครั้งละหลายแสนหุ้นปริมาณซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อดึงดูดความสนใจของรายย่อย
เมื่อรายย่อยเริ่มเข้าผสมโรง นักลงทุนรายใหญ่จะตั้งขายหุ้นในแต่ละช่วงราคาไว้หลายๆ แสนหุ้น และจะเริ่มเคาะนำ ส่งสัญญาณไล่ซื้อครั้งละ 100 หุ้นบ้าง 3,000 หุ้นบ้างหรือแม้แต่ครั้งละ 100,000 หุ้น หลายๆ ครั้ง เมื่อหุ้นที่ตั้งขายใกล้หมด เขาจะเคาะซื้อยกแถวพร้อมกับตั้งซื้อยันรับที่ราคานั้นทันที ครั้งละหลายแสนหุ้น ถามว่าเขาตั้งซื้อครั้งละหลายแสนหุ้น เขากลัวไหมว่าจะมีคน หรือนักลงทุนสถาบันขายสวนลงมา คำตอบคือ กลัว แต่เขาก็ต้องวัดใจดูเหมือนกัน หากมีการขายสวนก็ต้องใช้วิธีเคาะซื้อแต่ไม่ใช้วิธีตั้งซื้อ นักลงทุนรายย่อยเมื่อสังเกตว่ามีการไล่ซื้อ จะเข้ามาซื้อตาม นักลงทุนรายใหญ่ซึ่งคอยนับหุ้นอยู่ พอเห็นมีเหยื่อมาติด จะเคาะนำที่ราคาใหม่ที่สูงขึ้นอีก แต่เพื่อให้ไม่ต้องซื้อหุ้นเข้ามาเพิ่ม เขาจะเคาะซื้อไม้หนักๆ ก็ต่อเมื่อหุ้นที่ตั้งขายอยู่เป็นหุ้นในกลุ่มของตนเอง สมมติตนเองตั้งขายไว้ 500,000 หุ้น เมื่อได้รับการยืนยันจากเทรดเดอร์ว่า เริ่มมีการเคาะซื้อ จากนักลงทุนอื่น ถึงคิวหุ้นของตนแล้ว เช่นอาจมีคนเคาะซื้อเข้ามา 10,000 หุ้น เขาจะทำทีเคาะซื้อเองตามอีก 200,000 หุ้น เพื่อให้รายย่อยฮึกเหิม เมื่อซื้อแล้วเขาก็จะเอาหุ้น200,000 หุ้นนี้มาตั้งขายใหม่ ยอมเสียค่านายหน้า ซื้อมาขายไปเพียง 0.5% แต่ถ้าสำเร็จจะได้กำไรตั้ง 50-100% เพราะฉะนั้น การไล่ซื้อช่วงนี้จึงเป็นการซื้อหนักก็ต่อเมื่อ ซื้อหุ้นตนเองตบตารายย่อยขณะที่ค่อยๆ เติมหุ้นขายไปทีละแสนสองแสนหุ้น
ส่วนการตั้งซื้อ ( BID ) ที่ตบตารายย่อยว่าแรงซื้อแน่นนั้น หากสังเกตดีๆ จะพบว่าเมื่อตั้งซื้อเข้ามาสองแสนหุ้น สามแสนหุ้น สักพักจะมีการถอนคำสั่งซื้อออก แล้วเติมเข้ามาใหม่เพื่อให้การซื้อนั้นไปเข้าคิวใหม่อยู่คิวสุดท้าย และจะทำอย่างนี้หลายๆ ครั้ง นักลงทุนรายย่อยที่ตั้งซื้อเข้ามา จะถูกดันไปอยู่คิวแรกๆ หมด และถ้าเขาเห็นว่านักลงทุนอื่น มีการตั้งซื้อเข้ามามากพอสมควรแล้ว นักลงทุนรายใหญ่ก็จะมีการเทขายสลับเป็นบางครั้ง เรียกได้ว่ามีทั้งการตั้งขายและเคาะขายพร้อนกันเลยทีเดียว
หากจะสรุปวิธีการที่ใช้ในช่วงปล่อยหุ้นนี้ สามารถแบ่งออกได้ 4 วิธีการย่อย มีการตั้งขายหุ้น ( OFFER ) ไว้ล่วงหน้า หลายแสนหุ้นในแต่ละขั้นเวลา เริ่มเคาะซื้อนำครั้งละ 100 หุ้น 2-3 ครั้ง และจะเคาะซื้อหนักๆ ก็ต่อเมื่อหุ้นที่ตั้งขาย ( OFFER ) เป็นหุ้นในกลุ่มของตน เมื่อซื้อได้จะรีบนำมาตั้งขายต่อ และจะมีการเติมขายหุ้นตลอดเวลา เมื่อหุ้นที่เสนอขาย ( OFFER ) ใกล้หมด จะเคาะซื้อยกแถว แล้วตั้งเสนอขาย ( BID )เข้ามายันหลายแสนหุ้น แต่จะทยอยถอนออกแล้วเติมเข้าตลอดเวลา
เมื่อหุ้นของคนอื่นที่ตั้งซื้อ ( BID ) มีจำนวนมากพอจะมีการเทขายสวนลงมาเป็นจังหวะๆ เขาจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
หุ้นในพอร์ตของตนเอง จะค่อยๆ ถูกระบายออกไป และในสุดท้ายเมื่อข่าวดี ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น เขาจะทำทีเคาะไล่ซื้อหุ้นตนเองอย่างหนัก แต่จะไม่ตั้งซื้อแล้ว เพราะกลัวถูกขาย ดังนั้นจึงเป็นภาพเหมือนมีคนมาไล่ซื้ออย่างรุนแรง แล้วอยู่ๆ ก็หยุดไปเฉยๆ ถามว่าแล้วเขาปล่อยหุ้นไปตอนไหน คำตอบคือ เขาทยอยตั้งขายไปในระหว่างที่เขาทำทีซื้อนั่นเอง ผู้เคราะห์ร้าย คือ รายย่อยที่ไปเคาะซื้อตาม แต่รีรอที่จะขายเพราะเห็นว่ายังมีแรงซื้อแน่นอยู่ สุดท้ายต้องติดหุ้นในที่สุด
บทสรุป
ตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นแหล่งระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญของประเทศชาติ ประชาชนทุกคนได้รับโอกาสให้นำเงินออมเข้ามาลงทุนกับบริษัทชั้นดีในตลาดหลักทรัพย์ หากเขาเหล่านั้นลงทุนด้วยความรู้ ความเข้าใจ ย่อมสามารถสร้างผลกำไร และความมั่นคงให้กับตนเอง และครอบครัว แต่ถ้าเข้ามาลงทุนด้วยวิธีเก็งกำไรโดยปราศจากความรู้ ย่อมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของนักปั่นหุ้นที่มีอยู่มากมายในตลาดหุ้นได้
เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว เปรียบได้ดั่งสายฝนซู่ใหญ่ที่พัดสาดเข้ามาอีกครั้ง แสงระยิบระยับของกระดานหุ้นเร้าใจแมลงเม่าไม่แพ้แสงไฟในฤดูฝน เหล่าแมลงเม่าน้อยใหญ่พากันโบยบินเข้าตลาดหุ้น และแล้วตำนานเรื่องเดิมของเหล่าแมลงเม่าก็เริ่มต้นอีกครั้ง
================================
รู้ทันหุ้นปั่น ตอนที่ 5
ตอนที่ 5 : หมายเหตุปั่นหุ้น
1) สมัยก่อนหุ้นปั่นจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่พื้นฐานไม่ดี ปัจจุบันนี้ หุ้นปั่นจะเป็นหุ้นตัวเล็ก หรือหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยแต่พื้นฐานดี เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยฉลาดขึ้น แต่สุดท้ายก็ถูกหลอกอยู่ดี
2) นักลงทุนรายย่อยจะไม่สนใจหุ้นพื้นฐานดี แต่ไม่มีสภาพคล่อง แต่จะชอบหุ้นปั่น (ทั้งๆ ที่รู้ว่าปั่น) เพราะราคาวิ่งทันใจดี ส่วนใครออกตัวไม่ทัน ติดหุ้น เขาจะโทษตัวเองว่า โชคไม่ดีไหวตัวไม่ทันเอง
3) นักลงทุนรายย่อยจะไม่ซื้อหุ้นที่ขาดสภาพคล่อง ถึงแม้จะมีพื้นฐานดี แต่จะรอจนมีคนไปไล่ซื้อหุ้นให้มีปริมาณซื้อขายคึกคักและราคาขยับสัก 5%-10% แล้วจึงเข้าไปผสมโรง เพราะทุกคนมีคติว่า "ขาดทุนไม่กลัว กลัวติดหุ้น" (หุ้นขาดสภาพคล่อง)
4) นักลงทุนรายย่อยจะภาคภูมิใจหากสามารถซื้อขายหุ้นในวันเดียวแล้วได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ สัก 1-2% มากกว่าซื้อหุ้นไว้ 1 ปีแล้วกำไร 20%-30% เพราะคิดว่าการซื้อขายหุ้นในวันเดียว แล้วได้กำไรต้องใช้ฝีมือมากกว่า (ทั้งที่จากเฉลี่ยทั้งปีแล้วมักขาดทุน)
5) หุ้นหลายๆ ตัวในตลาดหลักทรัพย์ มีนักลงทุนรายใหญ่คอยดูแล เวลามีข่าวดีต่อหุ้นตัวนั้นเข้ามา ถ้าคนดูแลไม่ต้องการให้ราคาหุ้นปรับขึ้น หุ้นตัวนั้นก็จะถูกกดราคาไว้ แต่ถ้าคนดูแลเข้ามาไล่ราคาหุ้นเมื่อไร หุ้นก็จะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นทันที และข่าวหนังสือพิมพ์จะออกมาว่า นักลงทุนตอบรับข่าว ดีของหุ้นตัวนั้น จึงได้เข้ามาซื้อเก็บเอาไว้ ทั้งๆ ที่ หลายๆ ครั้ง เป็นการทำราคาของรายใหญ่เพียงรายเดียว ที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของหุ้นตัวนั้นว่าจะขึ้นหรือลง
6) นักปั่นหุ้นจะกลัวสภาวะตลาดมากกว่า ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่เคยลงโทษนักปั่นหุ้นรายใหญ่ได้ แต่เขาจะกลัวว่า ถ้าคาดการณ์ภาวะตลาดผิด ตนเองจะติดหุ้นเอง
7) เหตุผลที่นักปั่นหุ้นต้องใช้ชื่อคนอื่น ตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป เป็นตัวแทนในการถือหุ้น (NOMINEE) ช่วยซื้อขายหุ้นนั้น เพื่อไม่ต้องการให้ทางการสาวเรื่องมาถึงตนได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์การถือหุ้นเกินคนละ 5% ของทุนจดทะเบียน ที่ต้องแจ้งเรื่องนี้กับ ก.ล.ต.เพื่อเผยแพร่ต่อนักลงทุนทั่วไปด้วย
วิธีสังเกตเมื่อมีการปั่นหุ้น
1) มีข่าวดีมา แต่ราคาหุ้นไม่ไปทั้งๆ ที่มีปริมาณการซื้อขายมากขึ้น เหมือนมีคนกด ราคาอยู่ (เพื่อเก็บของ)
2) หลังจากนั้น มีการไล่ราคาอย่างรวดเร็วรุนแรง ปริมาณการซื้อขายพุ่งขึ้นอย่างเห็น ได้ชัด
3) จำนวนหุ้นที่ตั้งซื้อ (BID) มีการเติมเข้าถอนออกอยู่ตลอดเวลา
4) การเคาะซื้อไล่ราคาจะมีการเคาะนำครั้งละ 100 หุ้น 2-3 ครั้ง จากนั้นจะเป็น การไล่เคาะซื้อยกแถว
5) หลังจากหุ้นขึ้นมานานแล้ว พอมีข่าวดีมา จะเห็นการเคาะซื้อครั้งละมากๆ แต่การตั้งซื้อ (BID) ไม่หนาแน่น
จังหวะที่ใช้ในการปั่นหุ้น
1) เมื่อหุ้นตัวนั้นราคาตกลงมาจนราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ในภาวะตลาดขาลง นักลงทุนรายใหญ่จะทยอยสะสมหุ้นแบบไม่รีบร้อน เมื่อตลาดกลับเป็นขาขึ้น จะมีการไล่ราคาหุ้นอย่างรวดเร็ว แล้วทยอยขาย ปีหนึ่งทำได้สัก 2-3 รอบ ก็คุ้มค่าต่อการรอคอยแล้ว
2) เมื่อมีข่าวที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้น โดยทั่วไป นักลงทุนรายใหญ่จะรู้เห็นข่าววงในก่อน(INSIDER) และซื้อหุ้นเก็บไว้ เมื่อข่าวดีออกมา จะมีการไล่ราคาแล้วขายหุ้นออกไป หรือในทางตรงกันข้าม
หากมีข่าวปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นแย่ลงมาก เช่น ใกล้หมดอายุการใช้สิทธิของ WARRANT, ข่าวขาดทุนรายไตรมาส, ข่าวบริษัทลูกขาดทุน จะเป็นการปั่นหุ้นรอบสั้นๆ เพื่อออกของ หรือหากได้ปล่อยขายไปเกือบหมดแล้ว จะใช้วิธีทุบหุ้นเพื่อเก็บของถูก แล้วรอปั่นในรอบถัดไป
3) ปลายตลาดขาขึ้น เมื่อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี (BLUE CHIP) ทุกกลุ่มถูกนักลงทุนไล่ซื้อ จนราคาหุ้นขึ้นมาสูงหมดแล้ว โดยทั่วไปจะไล่เรียงจากหุ้นกลุ่มใหญ่ๆ เช่น กลุ่มธนาคาร ไฟแนนซ์ ที่ดิน วัสดุก่อสร้าง สื่อสาร และพลังงาน เมื่อนักลงทุนหมดตัวเล่น รายใหญ่จะเข้ามาปั่นหุ้นตัวเล็กๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดีราคาต่ำ รายย่อยจะเข้าผสมโรงเพราะเห็นว่าหุ้นกลุ่มนี้ยังขึ้นไม่มาก ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อหุ้นตัวเล็กๆ ถูกนำขึ้นมาเล่นไล่ราคา มักเป็นสัญญาณว่าหมดรอบของภาวะขาขึ้นแล้ว (เพราะถ้าหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ราคายังต่ำกว่าความเป็นจริง นักลงทุนก็ยังพุ่งเป้าซื้อขายหุ้นกลุ่มนี้อยู่ จนกระทั่งราคาหุ้นขึ้นสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานแล้ว จึงละทิ้งไปเล่นหุ้นปั่น เมื่อราคาหุ้นโดยรวมสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ตลาดหุ้นย่อมพร้อมที่จะปรับฐานได้ตลอดเวลา)
ที่มา :
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I9648592/I9648592.html
http://www.huayuanjie.net/phpBB2/viewtopic.php?t=182
บริษัท TTP (PT TRI TUNGGAL PITRIATI )ที่Earthซื้อโดยวิธีแลกหุ้น เห็นมีข่าวแว่วมาว่าเป็น บริษัทฯนายหน้า ที่มีสัมปทานซื้อถ่านหิน ไม่ใช่เจ้าของเหมืองจริงเท็จแค่ไหน สอบถามผู้รู้ช่วยตอบหน่อยครับ
ReplyDelete