Sunday, October 10, 2010

เงินบาทแข็งค่า : ปัญหาและแนวทางแก้ไข

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ - เงินบาทแข็งค่า : ปัญหาและแนวทางแก้ไข

Posted on Thursday, October 07, 2010
ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำสถิติแตะระดับแข็งค่าไม่เว้นแต่ละวัน คำถาม คือ การที่เงินบาทแข็งค่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง และควรจะบริหารจัดการอย่างไรประเด็นนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร เสนอมุมมองต่อนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่น 11 เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา

ค่าเงินในประเทศไทย

เงินบาทเหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง คือ ถ้าสินค้ามีมากเกินไปราคาจะลดลง หากมีน้อยเกินไปราคาจะเพิ่มขึ้น การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น แสดงว่าเงินบาทมีน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการลงทุนในประเทศ เช่น ลงทุนโดยตรง (FDI) ลงทุนหุ้น ซื้อตราสารหนี้ รวมทั้งการที่ผู้ส่งออกที่มีรายได้เป็นดอลลาร์ต้องการแลกกลับเป็นสกุลเงินบาทมากกว่าผู้นำเข้าต้องการขายบาทเพื่อแลกดอลลาร์ หรือในอีกด้าน ก็คือ ประเทศไทยอยู่ในสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากในปัจจุบัน คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง การไหลเข้าของเงินเพื่อลงทุนทางตรง และล่าสุดคือการนำเงินเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นและพันธบัตร โดยในช่วง มกราคมถึงสิงหาคมของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรเมื่อเทียบกับหุ้นมากถึง 8 เท่า

“เหตุผลที่พวกเขาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย มาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ยกตัวอย่างเช่น หากถือพันธบัตรไทยอายุ 2 ปีเมื่อเทียบกับพันธบัตรสหรัฐอายุเท่ากัน พันธบัตรไทยจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประมาณ 2% และเมื่อบวกกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ย่อมได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนบางรายถึงกับทำ Carry Trade คือ กู้เงินดอลลาร์มาซื้อพันธบัตรไทย ทั้งนี้เพราะต้นทุนการกู้เงินต่ำเพียง 0.5%”

อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิยังมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นการเก็งกำไร “เป็นการได้ผลตอบแทนอย่างชัดเจนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และหากแบงก์ชาติสหรัฐไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2012 เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า ความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจึงมีอยู่”

ความเสี่ยงและการจัดการ

แค่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.9% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ และประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินยูโร และแข็งขึ้นถึง 7% นับจากปลายปีที่แล้ว และความเป็นไปได้ที่จะมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง

“ผมมองว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นไปอีก อย่างน้อย 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้า” ดร.ศุภวุฒิ คาดการณ์

แนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ไข ก็คือ เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท ด้วยการนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ เพื่อกดไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ แต่ผลที่ตาม ก็คือ ทำให้เงินทุนสำรองที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ธปท.ต้องบริหารเงินทุนสำรองที่เป็นสกุลดอลลาร์ดังกล่าว ซึ่งในขณะที่แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง (เงินบาทแข็งค่า) และผลตอบแทน (อัตราดอกเบี้ย) ของพันธบัตรสหรัฐก็อยู่ในระดับต่ำมาก และหากแปลงเป็นเงินยูโรหรือเยนก็จะยังประสบปัญหาเดียวกัน

ผลที่ตามมา ก็คือ ธปท. จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วหรือผันผวนจนเกินไป ซึ่ง ธปท. ประสบปัญหาการขาดทุนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา (ยกเว้นปี 2551 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า) และยังต้องประสบปัญหารายรับดอกเบี้ยจากการลงทุนในสินทรัพย์ (เงินทุนสำรอง) ต่ำกว่ารายจ่ายดอกเบี้ย (จากการออกพันธบัตรเพื่อบริหารสภาพคล่อง) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

ขณะที่ ธปท.ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงพอสมควร ปัญหาจึงอยู่ที่ถ้าหากปริมาณเงินในระบบมีมากจะกดให้อัตราดอกเบี้ยลดลง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ธปท.จึงต้องดูดซับสภาพคล่อง (Sterilization) ด้วยการดึงเงินบาทออกจากระบบ โดยการออก (ขาย) พันธบัตร ธปท.

หากดูงบดุลของ ธปท. จะพบว่าสินทรัพย์ที่เป็นสกุลดอลลาร์กำลังเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนี้สินซึ่งเป็นสกุลเงินบาทก็กำลังเพิ่มเช่นเดียวกัน (จากการออกพันธบัตร)

ประเด็นหลักคือ การพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท (ไม่ให้แข็งค่า) จะเปิดโอกาสให้มีเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นภาระกับ ธปท. อย่างมาก

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าเงินในประเทศไทย

- ทำอย่างไรเพื่อหยุดวัฏจักรเงินทุนไหลเข้า :
o วิธีที่หนึ่ง คือ ปล่อยเงินบาทแข็งค่าถึงขั้นขาดดุลกการค้า เพราะการแข็งค่าจะจูงใจให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้น (นำเข้าสินค้าทุนเพื่อมาใช้ประโยชน์ในการลงทุน หรือ การสั่งสินค้าฟุ่มเฟื่อยเพื่อการบริโภค) ในขณะที่การส่งออกลดลง
o วิธีที่สอง คือ การทำ Capital Control คือ มีมาตรการลดกำไรของผู้นำเงินเข้ามาลงทุนในระยะสั้น เช่น มาตรการที่ประกาศใช้ในปี 2549 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเงินบาทจะแข็งค่าเร็วเท่าใด หากเฉลี่ยเดือนละ 3% อาจมีความเป็นไปได้ที่มาตรการลักษณะนี้จะถูกนำมาใช้

- เป็นไปได้หรือไม่ที่แบงก์ชาติจะลดบทบาท และปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทด้านค่าเงิน : ที่ผ่านมามีบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่ธนาคารกลางไม่แทรกแซงค่าเงิน ปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามความต้องการซื้อและขายของตลาด ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าต้องรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่ หรือต้องบริหารความเสี่ยงเอง หากเป็นผู้ประกอบรายใหญ่ก็จะสามารถบริหารความเสี่ยงได้โดยการทำ Forward แต่สำหรับผู้ประกอบการ SMEs อาจประสบความลำบากในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น วิธีการดังกล่าวจึงต้องดูความพร้อมของผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ ด้วย

- ความเป็นไปได้ที่อเมริกาจะหาแนวทางเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ : การสร้างเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้สหรัฐซึ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของโลกลดมูลหนี้ของตนลง ทำให้เจ้าหนี้ (ผู้ถือตราสารหนี้ของสหรัฐ) ได้เงินคืนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

- แนวทางความเป็นไปได้ในการเอาทุนสำรองของประเทศมาตั้งเป็นกองทุน ไปซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ : ปัญหาคือ หากการลงทุนนั้นทำให้เกิดความเสียหาย เท่ากับเป็นการทำความเสียหายให้กับทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งมีโทษจำคุกและนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดกองทุนดังกล่าว

- การปรับโครงสร้างในแถบภูมิภาคอาเซียน โดยรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งและลดการพึ่งพาเศรษฐกิจอเมริกา

- ทางออกที่จะไม่เกิด Capital Control แต่ทำให้ดุลการค้ากลับทิศ ความเป็นไปได้ คือ ต้องหาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่สามารถลงทุนได้เร็วและสร้างฐานความมั่งคั่งในอนาคต ดังนั้น ต้องมีการนำเข้าและระบายเงินออกสูง หากมีการใช้จังหวะนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาโครงการที่ให้ผลตอบแทนคุ้มทุน ภาครัฐสามารถทำโครงการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน โดยเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ต้องทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ คือ รัฐบาลกู้เงินจากเงินสำรองมาทำประโยชน์ เป็นการใช้ความมั่งคั่งของประเทศมาทำให้เกิดประโยชน์

- รัฐควรมีมาตรการส่งเสริมการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศในช่วงที่สถานะการเงินของประเทศเป็นเช่นนี้

จากคอลัมน์ CMA Leader Society โดย วตท. นิตยสาร M&W ตุลาคม 2553
ที่มา: http://www.moneychannel.co.th/MoneyChannel/Speech/tabid/55/newsid478/125485/Default.aspx

No comments:

Post a Comment